“ประจำเดือนมาไม่ปกติ” เป็นสิ่งที่สาวๆ หลายคนพบเจอ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักคิดว่าการที่เมนไม่มา ประจำเดือนมาเยอะกว่าปกติ หรือปวดประจำเดือนมากในบางเดือนเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถพบทั่วไป ทั้งที่จริงๆ แล้ว อาจเป็นหนึ่งในสัญญาณของโรคทางนรีเวช
เพื่อให้สาวๆ สามารถสังเกตอาการผิดปกติและดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม แฮปปี้เบิร์ธคลินิก จะพาไปทำความรู้จักกับลักษณะอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ พร้อมสาเหตุ และคำแนะนำในการดูแลตนเองเบื้องต้น จะน่าสนใจแค่ไหนนั้น ไปดูกันเลยค่ะ
ประจำเดือนมาไม่ปกติ เป็นอย่างไร?
ประจำเดือนมาไม่ปกติ คือ การที่สาวๆมีประจำเดือนผิดไปจากที่ควรจะเป็น ซึ่งโดยปกติแล้วสาวๆควรมีประจำเดือนทุกทุก 28 - 30 วัน โดยแต่ละเดือนจะมาประมาณ 3 - 5 วัน และแต่ละวันไม่ควรมีประจำเดือนเกิน 80 ซีซี หรือประมาณผ้าอนามัย 4 ผืนต่อวัน (แบบที่มีเลือดชุ่มเต็มแผ่น)
การที่สาวๆ เมนไม่มา หรือประจำเดือนช้า หรือเร็วกว่ากว่าปกติ มีประจำเดือนนานเกิน 7 วัน มีเลือดออกนอกรอบประจำเดือน หรือมีประจำเดือนมาเยอะมากกว่า 80 ซีซีต่อวันขึ้นไป โดยมีลักษณะเป็นลิ่มเลือด หรือเป็นก้อนๆ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นลักษณะอาการของประจำเดือนผิดปกตินั่นเอง
ภาวะขาดประจำเดือน เมนไม่มา คืออะไร?
เมื่อพูดถึงประจำเดือนมาไม่ปกติ ภาวะขาดประจำเดือน หรือที่มักเรียกกันสั้นๆ ว่า “เมนไม่มา” เป็นหนึ่งในอาการประจำเดือนผิดปกติที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งหมายถึงการมีภาวะใดภาวะหนึ่งที่ทำให้ไม่มีเลือดประจำเดือนออกมาปกติ ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ดังนี้
1. ภาวะขาดประจำเดือนปฐมภูมิ
ภาวะขาดประจำเดือนปฐมภูมิ หมายถึง ผู้หญิงที่มีอายุ 18 ปี แล้วยังไม่เคยมีประจำเดือนมาก่อน ซึ่งโดยปกติแล้ว สาวๆจะมีประจำเดือนครั้งแรกตอนอายุประมาณ 12 ปีขึ้นไป
2. ภาวะขาดประจำเดือนทุติยภูมิ
ภาวะขาดประจำเดือนทุติยภูมิ หมายถึง ผู้หญิงที่มีเคยมีประจำเดือนแล้ว แต่ต่อมาก็ไม่มีประจำเดือน หรือเมนไม่มาติดต่อกัน 3 เดือน หรือ 6 เดือนขึ้นไป
สาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
มีหลายสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ เมนไม่มา หรือประจำเดือนมาเยอะกว่าปกติ เช่น
1. กลุ่มอาการ PCOS (Polycystic ovarian syndrome)
กลุ่มอาการ PCOS คือ ภาวะที่รังไข่ไม่เจริญเติบโตพอต่อการใช้งาน ทำให้ไม่เกิดการตกไข่ในรอบเดือน (ไม่มีประจำเดือน) ซึ่งเมื่อลองถ่ายภาพอัลตราซาวด์มดลูกและรังไข่ในสาว ๆ ที่อยู่ในกลุ่มอาการนี้ดูแล้ว จะพบว่า มีถุงไข่ขนาดเล็กจำนวนมากในรังไข่ จึงทำให้มีชื่อเรียกว่า “โรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ” นั่นเอง
โรคถุงน้ำรังไข่หลายใบนั้น เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดแน่ชัด แต่พบว่าเกี่ยวข้องกับอาการดื้ออินซูลินมากกว่าปกติ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานในอนาคต และทำให้ระดับฮอร์โมนเพศชายในรังไข่สูงขึ้นกว่าปกติ
หากสาว ๆ มีอาการขาดประจำเดือน ร่วมกับมีอาการแสดงของฮอร์โมนเพศชายมากกว่าปกติ เช่น ขนดก หน้ามัน หรือสิวขึ้นง่าย นั่นอาจเป็นสัญญาณของกลุ่มอาการ PCOS ซึ่งสาว ๆ ควรรีบไปพบสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะภาวะนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้เมนไม่มาเท่านั้น แต่ยังทำให้มีบุตรยากได้อีกด้วย
2. รังไข่เสื่อมก่อนกำหนด (Premature ovarian failure)
รังไข่เสื่อมก่อนกำหนด เป็นภาวะที่รังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร หรือประมาณ 40 ปี โดยจะส่งผลให้มีอาการขาดประจำเดือน และมีระดับฮอร์โมนในร่างกายคล้ายกับสตรีวัยหมดประจำเดือน คือ มีระดับฮอร์โมน Estrogen ต่ำ และมีระดับฮอร์โมน Follicular Stimulating Hormone (FSH) สูง
ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดนั้น เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติของโครโมโซมและพันธุกรรม ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด การให้เคมีบำบัด หรือการติดเชื้อ หรือเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิต้านทานตนเอง เป็นต้น
3. ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง (Chronic anovulation)
ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง เป็นภาวะที่ไม่มีไข่ตกออกมาจากรังไข่ ทำให้ประจำเดือนไม่มา หรือในบางรายอาจทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ แล้วทำให้ประจำเดือนมาเยอะกว่าปกติ หรือมีเลือดออกกะปริดกะปรอยก็ได้
ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังนั้น เป็นอาการแสดงความผิดปกติของระบบทางนรีเวชที่จะต้องรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะอาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งโพรงมดลูก ภาวะมีบุตรยาก ภาวะดื้ออินซูลิน ภาวะกระดูกบาง หรือภาวะแอนโดรเจนเกินได้
4. โรคมะเร็งทางนรีเวช
โรคมะเร็งทางนรีเวชอย่างมะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่น่ากลัวที่อาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติได้ โดยจะมีอาการเด่น ๆ ดังนี้
มีเลือดออกจากช่องคลอดกะปริดกะปรอย โดยอาจมีเลือดออกทุกวัน หรือวันเว้นวัน
มีประจำเดือนเร็วกว่าปกติ
มีเลือดออกนอกรอบประจำเดือน
มีประจำเดือนมาเยอะกว่าปกติ และมีลักษณะเป็นลิ่มเลือด หรือเป็นก้อน ๆ
มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
มีเลือดออกหลังจากเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
5. ผลข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด
การรับประทานยาคุมกำเนิดแบบเม็ดอย่างไม่สม่ำเสมอ เช่น ลืมกินยาคุมกำเนิดในบางวัน อาจส่งผลให้มีเลือดออกกะปริดกะปรอยได้ หรือในบางคนที่ใช้ยาฝังคุมกำเนิดห่วงคุมกำเนิด หรือยาฉีดคุมกำเนิด ก็อาจส่งผลให้ประจำเดือนมามากกว่าปกติ ประจำเดือนไม่มา หรือปวดประจำเดือนมากกว่าปกติได้เช่นกัน
6. ความผิดปกติทางนรีเวช
ในบางครั้ง การมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติอาจเกิดจากการที่มดลูกอักเสบ ปากมดลูกอักเสบ หรือมีติ่งเนื้อที่ปากมดลูกก็ได้ ซึ่งนับเป็นความผิดปกติทางนรีเวชที่ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ประจำเดือนมาเยอะกว่าปกติ คืออะไร?
นอกจากภาวะขาดประจำเดือน หรือที่เรียกว่า เมนไม่มา ที่พบบ่อยแล้ว อาการประจำเดือนมาเยอะกว่าปกติก็เป็นอีกหนึ้งอาการประจำเดือนมาไม่ปกติที่พบบ่อยไม่แพ้กัน โดยเป็นลักษณะของผู้หญิงที่มีประจำเดือนมามากกว่าปกติ ต้องใช้ผ้าอนามัยมากกว่า 3 - 4 ต่อวัน จัดเป็นอีกหนึ่งภาวะผิดปกติที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก
แบบไหนถึงเรียกว่า “ประจำเดือนมาเยอะกว่าปกติ”
ประจำเดือนมาเยอะกว่าปกติ จะมีลักษณะดังนี้
ประจำเดือนมามากกว่า 7 วัน
ในระหว่างวันจะต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ ชั่วโมง เนื่องจากประจำเดือนมามากว่าปกติ
ต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยในระหว่างนอนหลับตอนกลางคืน
มีประจำเดือนมากกว่าปกติแทนที่จะน้อยลง แม้ว่าจะเข้าสู่เลข 5 หรือใกล้วัยทองแล้วก็ตาม
ประจำเดือนมาเยอะพร้อมกับลิ่มเลือดขนาดใหญ่กว่าหนึ่งเหรียญบาท อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติของระบบสืบพันธ์ุเพศหญิง ได้แก่ ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก เนื้องอกในมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตผิดที่ หรือโรคร้ายแรงอย่างมะเร็งปากมดลูกได้
ประจำเดือนมาเยอะอันตรายไหม?
การที่สาว ๆ มีประจำเดือนมาเยอะกว่าปกติทุกเดือน จะทำให้เป็นภาวะเลือดจางตามมา ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และรู้สึกไม่สดชื่น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายในระยะยาว
นอกจากนี้ประจำเดือนมาเยอะยังอาจเกิดจากสาเหตุที่เป็นอันตรายอย่างโรคมะเร็งในอวัยวะสืบพันธุ์ได้อีกด้วย หากสาว ๆ มีอาการเหล่านี้ แนะนำให้รีบไปพบคุณหมอเพื่อตรวจประเมินอาการโดยเร็วที่สุด
ประจำเดือนมาไม่ปกติประจำเดือนมาเยอะ เมนไม่มา ควรทำอย่างไรดี?
แนวทางการดูแลตนเองเมื่อประจำเดือนมาไม่ปกติ มีดังนี้
พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย และลดภาวะความเครียดลง
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที
รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
หากลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดูแล้ว อาการประจำเดือนไม่มาตามปกติไม่ดีขึ้น ควรไปพบคุณหมอเฉพาะทางด้านสูตินรีแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม
วิธีตรวจวินิจฉัยประจำเดือนมาไม่ปกติ
การตรวจวินิจฉัยอาการขาดประจำเดือน เมนไม่มา หรือประจำเดือนมาเยอะกว่าปกตินั้น คุณหมอจะทำการซักประวัติสุขภาพ ตรวจการตั้งครรภ์ และตรวจร่างกายทั่วไปก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยตรวจภายใน หรือตรวจอัลตราซาวด์ช่องคลอดเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ และรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้อง
รวมคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับประจำเดือนมาไม่ปกติ
ประจำเดือนเลื่อนได้มากสุดกี่วัน?
ปกติแล้ว ผู้หญิงจะมีประจำเดือนทุก ๆ 28 - 30 วัน หรืออยู่ในช่วง 21 - 35 วัน ซึ่งอาจมาเร็ว หรือมาช้ากว่ารอบเดือนปกติได้ประมาณ 3 - 7 วัน ถ้าหากประจำเดือนมาไม่ตรง ประจำเดือนมาช้า รอบเดือนเกิน 35 วัน หรือประจำเดือนไม่มาเกิน 1 เดือน แสดงว่าประจำเดือนมาไม่ปกติ
ดังนั้นคำถามที่ว่าประจำเดือนเลื่อนนานสุดกี่วัน จึงสรุปได้ว่า ไม่ควรเลื่อนเกิน 7 วันนั่นเอง
อาการประจำเดือนจะมา แต่ไม่มา บอกอะไรได้บ้าง?
หากสาว ๆ มีอาการก่อนประจำเดือนมาเกิดขึ้น แต่พอถึงช่วงที่ประจำเดือนมา แต่เมนไม่มา นั่นอาจเป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ แนะนำให้ไปตรวจการตั้งครรภ์กับสูตินรีแพทย์ค่ะ
ประจำเดือนมากี่วัน ถ้าประจำเดือนมา 7 วัน ปกติไหม?
ปกติแล้วผู้หญิงจะมีประจำเดือนประมาณ 3 - 7 วันแล้วหมดไป แต่ถ้ามีประจำเดือนนานมากกว่า 7 วันขึ้นไป จะถือว่าเป็นประจำเดือนมาเยอะกว่าปกติ
ประจำเดือนมามากขนาดไหนถึงจะผิดปกติ?
อาการประจำเดือนมามากผิดปกติ ได้แก่ มีประจำเดือนมากกว่า 7 วันขึ้นไป ประจำเดือนมามากจนทำให้ต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ ชั่วโง หรือบ่อยมาก ๆ หรือต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยระหว่างนอนหลับ รวมไปถึงผู้หญิงที่อายุเข้าเลข 50 หรือใกล้วัยทอง แต่ประจำเดือนกลับยังมามากขึ้นกว่าเดิม ทั้ง ๆ ที่ควรจะน้อยลง
ประจำเดือนมาไม่หยุดเกิดจากสาเหตุอะไร?
ประจำเดือนมาไม่หยุดเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาเกี่ยวกับมดลูกต่าง ๆ เช่น เนื้องอกในมดลูก อุ้งเชิงกรานอักเสบ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มีติดเนื้อบริเวณปากมดลูก หรือเป็นมะเร็งทางนรีเวช
รวมถึงผลข้างเคียงจากการรักษา หรือการใช้ยาบางชนิด หรือผลข้างเคียงจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคฮีโมฟีเลีย หรือโรคเกี่ยวกับตับหรือไตที่มีผลต่อกลไกการห้ามเลือดก็ได้
ถ้าหากมีอาการประจำเดือนมาไม่หยุด แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายได้
ประจำเดือนมา ๆ หาย ๆ เป็นเพราะอะไร?
ประจำเดือนมา ๆ หาย ๆ เกิดจากการที่ร่างกายมีการไข่ตกบ้าง ไม่ตกบ้าง หรืออาจจะไม่มีไข่ตกเลย ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด (POI) ภาวะไข่ตกน้อยลง (DOR) ความผิดปกติของไฮโปทาลามัสและต่อมใต้สมอง หรือระดับฮอร์โมนไม่สมดุล หากสาว ๆ มีอาการประจำเดือนมา ๆ หาย ๆ แนะนำให้รีบไปตรวจหาสาเหตุตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะอาจส่งผลให้มีภาวะมีบุตรยากในอนาคตได้ค่ะ
ทำยังไงให้ประจำเดือนมาปกติ?
ในเบื้องต้น เราสามารถดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้แข็งแรงเพื่อทำให้ประจำเดือนมาปกติได้ เช่น
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
พยายามไม่เครียดจนเกินไป
รับประทานอาหารให้ครบถ้วน และเหมาะสม
รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากสาว ๆ ดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้แข็งแรงแล้ว ประจำเดือนก็ยังคงมาไม่ปกติอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ประจำเดือนมาเยอะกว่าปกติ หรือเมนไม่มาเลย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมก็จะดีที่สุด
สรุปเรื่องประจำเดือนมาไม่ปกติ
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว สาว ๆ คงรู้แล้วว่ามีหลายสาเหตุมากที่ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ซึ่งมีทั้งสาเหตุที่เป็นอันตราย และสาเหตุที่ไม่อันตราย แต่ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด สาว ๆ ก็ควรที่จะมาตรวจภายในกับคุณหมอ เพื่อที่จะได้รักษาต้นตอที่ทำให้เกิดอาการได้อย่างเด็ดขาด ซึ่งจะช่วยให้สาว ๆ มีสุขภาพที่ดีในระยะยาวค่ะ โดยที่แฮปปี้เบิร์ธคลินิก เราให้การดูแลทุกเรื่องกังวลใจของผู้หญิง โดยหมอผู้หญิงที่เข้าใจสาว ๆ ทุกวัย ไม่ว่าสาว ๆ จะมีปัญหาเมนไม่มา หรือประจำเดือนมาเยอะกว่าปกติ ก็สามารถนัดหมายเพื่อปรึกษาคุณหมอของเราได้ โดยติดต่อที่เบอร์โทรศัพท์ 081-442-9355 (ตามเวลาทำการคลินิก) และเฟสบุ๊กเพจ happybirth กับหมอชะเอม เราพร้อมดูแลทุกเคสด้วยความใส่ใจค่ะ