หากสาว ๆ รู้สึกท้องอืด แน่นท้อง หรือคลำเจอก้อนที่หน้าท้อง นั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคถุงน้ำรังไข่ (Ovarian Cyst) หรือซีสต์ที่รังไข่ได้ แล้วโรคนี้คืออะไร? ถุงน้ำรังไข่ อาการเป็นอย่างไร? เมื่อเป็นแล้วต้องไปหาหมอไหม? แฮปปี้เบิร์ธคลินิก คลินิกสูตินรีเวช ได้สรุปข้อมูลที่ควรรู้มาให้แล้วค่ะ
โรคถุงน้ำรังไข่ คืออะไร
โรคถุงน้ำรังไข่ (Ovarian Cyst) คือ ภาวะที่มีถุงน้ำเกิดขึ้นที่รังไข่ หรือบริเวณรอบไข่ มีหลายชนิด แต่ละชนิดก็จะมีสาเหตุและความอันตรายที่แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น
เกิดจากการทำงานผิดปกติของรังไข่
การแบ่งการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงตกไข่
การแบ่งตัวของเซลล์บริเวณรังไข่ที่พัฒนากลายเป็นถุงน้ำรังไข่
มีภาวะเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
ถ้าอยากทราบสาเหตุการเกิดถุงน้ำแน่ชัด จะต้องให้สูตินรีแพทย์ตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดอีกครั้งค่ะ
ชนิดถุงน้ำรังไข่ หรือซีสต์ที่รังไข่ ที่พบบ่อย มีอะไรบ้าง?
ถุงน้ำรังไข่ หรือซีสต์ที่รังไข่ มีทั้งชนิดที่ไม่ใช่เนื้อร้าย และชนิดที่เป็นเนื้อร้าย (มะเร็ง) โดยชนิดที่ไม่ใช่เนื้อร้ายที่สามารถพบได้บ่อย ๆ จะมี 3 ชนิด ดังนี้
1. ฟังค์ชั่นนัล ซีสต์ (Functional cyst)
เป็นชนิดของถุงน้ำที่พบได้บ่อยที่สุด โดยจะเกิดขึ้นตามการทำงานปกติของรังไข่ เพื่อสร้างไข่ที่เป็นเซลล์สืบพันธุ์ของผู้หญิง แต่เมื่อไม่ได้เกิดการปฏิสนธิ ถุงน้ำจะโตขึ้นและแตกทำให้เซลล์ไข่ไหลออกมากลายเป็นประจำเดือน หลังจากนั้นถุงน้ำก็จะค่อย ๆ ยุบตัวลงไปเอง แต่ก็มีบ้างที่ถุงน้ำไม่ยุบตัวลง ทำให้ไม่ตกไข่ หรือตกไข่ไม่สม่ำเสมอ และนำไปสู่การเกิดโรคถุงน้ำรังไข่หลายใบได้ค่ะ
2. เดอร์มอยด์ ซีสต์ (Dermoid cyst)
จัดอยู่ในกลุ่มเนื้องอกถุงน้ำรังไข่ชนิดที่ไม่ใช้เนื้อร้าย โดยจะเกิดจากการแบ่งเซลล์ผิดปกติของรังไข่ ภายในถุงน้ำมักตรวจพบน้ำ ไขมัน เส้นผม กระดูก และฟันร่วมด้วยค่ะ
3. เอ็นโดเม็ตทรีโอมา (Endometrioma)
หรือที่คุ้นเคยกันดีในชื่อ ช็อกโกแลต ซีสต์ (Chocolate Cyst), ถุงน้ำที่คล้ายเนื้องอก (Tumor like condition) มีสาเหตุมาจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่บริเวณรังไข่ เมื่อมีรอบเดือน เยื่อบุโพรงมดลูกจะมีเลือดซึมออกมาสะสมในถุงน้ำเรื่อง ๆ จนเป็นเลือดเก่า ๆ ข้น ๆ สีคล้ายช็อกโกแลต และทำให้เกิดอักเสบได้ด้วย
ถุงน้ำรังไข่กับ PCOS แตกต่างกันอย่างไร?
โรคถุงน้ำรังไข่จะเจาะไปที่ถุงน้ำรังไข่ทีละชนิดเลยว่า เกิดจากสาเหตุใด และวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม ในขณะที่ PCOS (Polycystic Ovary Syndrome) เป็นกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของหลาย ๆ ระบบร่วมกัน ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดแน่ชัด แต่คาดว่ามีความเกี่ยวข้องกับการตกไข่ไม่สม่ำเสมอ ฮอร์โมนเพศชายเกิน และภาวะดื้ออินซูลิน จึงส่งผลให้มีวิธีรักษาที่แตกต่างกันตามไปด้วยค่ะ
ถุงน้ำรังไข่ อาการแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์
โดยปกติแล้ว ถุงน้ำรังไข่จะไม่มีอาการแสดง นอกจากว่าถุงน้ำจะมีขนาดใหญ่จนทำให้รู้สึกอืด แน่นท้อง หรือหน้าท้องใหญ่ขึ้นค่ะ รวมไปถึงเนื้องอกรังไข่ขนาดเล็ก และมะเร็งรังไข่ระยะแรกด้วย จึงเป็นเหตุว่า ทำไม่สาว ๆ ควรเข้ารับการตรวจภายใน และตรวจอัลตราซาวด์มดลูกและรังไข่ เพื่อประเมินอุ้งเชิงกรานทุกปี
วิธีตรวจวินิจฉัยโรคถุงน้ำรังไข่
แนวทางการตรวจวินิจฉัยโรคถุงน้ำรังไข่ จะมุ่งเป้าไปที่การตรวจวินิจฉัยเนื้องอกรังไข่ก่อนค่ะ โดยแพทย์จะทำการซักประวัติสุขภาพ และตรวจภายในด้วยการคลำก่อน หากตรวจพบเจอก้อนเนื้อที่ท้องน้อย ก็จะส่งตรวจอัลตราซาวด์รังไข่และมดลูก เพื่อตรวจดูตำแหน่ง ชนิด และขนาดของถุงน้ำรังไข่ต่อไปค่ะ
อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบว่ามีก้อนเนื้อปะปนอยู่ในถุงน้ำ จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่ได้ แพทย์อาจส่งตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor marker), ตรวจชิ้นเนื้อ, ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT Scan หรือตรวจ MRI เป็นต้น
แนวทางการรักษาโรคถุงน้ำรังไข่
หากเป็นถุงน้ำชนิด Functional cyst ในเบื้องต้นแพทย์จะให้สังเกตอาการดูก่อนว่ายุบลงหรือไม่ หรือจำเป็นต้องรับประทานยาปรับระดับฮอร์โมนด้วยหรือเปล่า แต่ถ้าไม่ใช่ถุงน้ำชนิดนี้ แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดออก ซึ่งจะแบ่งการผ่าตัดเป็นสองแบบหลัก ๆ ได้แก่
ผ่าตัดแบบไม่ฉุกเฉิน : เป็นการผ่าตัดเอาถุงน้ำรังไข่ชนิด Dermoid cyst หรือ Endometrioma ออก แต่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดออกทันที เพราะไม่ได้ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย หรือแค่ส่งผลกระทบต่อการมีบุตรยากเท่านั้น
ผ่าตัดแบบฉุกเฉิน : เป็นการผ่าตัดเอาถุงน้ำรังไข่ออกทันที ไม่ว่าจะเป็นถุงน้ำรังไข่ชนิดใดก็ตาม เพราะถุงน้ำรังไข่เหล่านี้ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดมาก ถ้าไม่ผ่าตัดออก อาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ เช่น ถุงน้ำรังไข่แตก หรือถุงน้ำรังไข่มีการบิดขั้ว
"ผ่าตัดแบบส่องกล้อง" ตัวช่วยกำจัดถุงน้ำรังไข่
การผ่าตัดถุงน้ำรังไข่ด้วยวิธีการส่องกล้อง เป็นวิธีผ่าตัดแบบใหม่ มีจุดเด่นตรงที่แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ช่วยให้ผู้เข้ารับการรักษาฟื้นตัวได้ไวขึ้น และมีผลข้างเคียงน้อยกว่า โดยแพทย์จะเจาะเปิดแผลหน้าท้องแค่ 4 จุด จุดละ 0.5 - 1 เซนติเมตร แล้วค่อยสอดอุปกรณ์ผ่าตัดที่ติดกล้องขนาดเล็กเข้าไปผ่าตัดเอาถุงน้ำรังไข่ออกมา
ข้อดีของการผ่าตัดแบบส่องกล้อง
แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง ทำให้เจ็บน้อยกว่า และฟื้นตัวได้เร็วกว่า
มีโอกาสเกิดแผลเป็นหลังผ่าตัดได้น้อยกว่ามาก
ส่งผลกระทบต่ออวัยวะข้างเคียงน้อยมาก
ข้อเสียของการผ่าตัดแบบส่องกล้อง
อาจไม่สามารถใช้กับถุงน้ำรังไข่ที่มีขนาดใหญ่เกินไปได้
มีราคาที่สูงกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดแบบส่องกล้อง
ในการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ผู้เข้ารับการรักษาจะต้องแจ้งข้อมูลสุขภาพทั้งหมดให้แพทย์ทราบ รวมถึงยาและอาหารเสริมที่ใช้เป็นประจำ เนื่องจากอาจส่งผลต่อการผ่าตัด โดยแพทย์อาจแนะนำให้หยุดใช้ยาบางรายการ นอกจากนี้ควรงดอาหารและน้ำอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัดเพื่อป้องกันการสำลัก งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ และควรมีญาติหรือเพื่อนมาเป็นเพื่อนในวันผ่าตัดด้วยค่ะ
การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดแบบส่องกล้อง
หลังจากผ่าตัดแบบส่องกล้องเสร็จแล้ว จะต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล 2 - 5 วัน ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์ผู้ค่ะ โดยผู้เข้ารับการรักษาจะต้องดูแลตนเองตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย เช่น
รับประทานยาที่แพทย์จ่ายให้จนหมด
งดสวนล้างช่องคลอด
งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
งดยกของหนัก ออกกำลังกายหนัก และขับรถ
งดการมีเพศสัมพันธ์
งดการแช่น้ำในอ่างน้ำ หรือว่ายน้ำ
มาพบแพทย์ตามนัดหมายเพื่อตรวจติดตามผลการรักษา
ตรวจภายในกับแฮปปี้เบิร์ธคลินิก หมดกังวลเรื่องถุงน้ำรังไข่
ใครที่สงสัยว่า ตนเองเป็นถุงน้ำรังไข่ อาการคล้ายกับที่เราบอกไปในข้างต้น อย่าปล่อยทิ้งไว้ รีบมาตรวจภายในและตรวจอัลตร้าซาวด์มดลูกและรังไข่กับแฮปปี้เบิร์ธคลินิกได้เลย ยิ่งตรวจเจอเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงขึ้นจนทำให้เกิดความเจ็บป่วย หรือทำให้มีภาวะมีบุตรยากด้วยค่ะ
แฮปปี้เบิร์ธคลินิก ดูแลโดยสูตินรีแพทย์ผู้หญิงและเจ้าหน้าที่ผู้หญิงทุกคน หากสนใจ สามารถติดต่อนัดหมายเพื่อเข้ามาใช้บริการได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 081-442-9355 (ตามเวลาทำการคลินิก) และเฟสบุ๊กเพจ คลินิกสูตินรีเวชแฮปปี้เบิร์ธ - happybirth กับหมอชะเอม (แฮปปี้เบิร์ธคลินิก) ได้เลยค่ะ รับรองว่าจะช่วยให้สาว ๆ เข้ามาใช้บริการได้อย่างสบายใจและเป็นส่วนตัวที่สุดแน่นอนค่ะ